Resume

What is a resume ?

ในปัจจุบัน Resume (เรสซูเม่) หรือในชื่อไทยว่า ประวัติการเรียนและประวัติการทำงาน นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการเข้าทำงาน Resume เปรียบเสมือนโฆษณาชิ้นหนึ่ง ซึ่งสินค้าที่เสนอขายนั้นก็คือผู้สมัครงานนั่นเอง เนื้อความใน Resume จะเป็นการบรรยายเนื้อความสรุปคุณสมบัติที่ดีและจุดเด่นต่าง ๆ ของผู้สมัคร วัตถุประสงค์สูงสุดของ Resume ก็คือการดึงดูดให้ แผนก HR , Recruitment สนใจเปิดรับเพื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ต่อไป เมื่อมีผู้สมัครหลายคน การคัดกรอง Resume ของผู้สมัครจึงเป็นด่านแรกที่นักศึกษาต้องเผชิญ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของนักศึกษาที่จะทำ Resume ออกมาอย่างสุดความสามารถ และสอดคล้องกับความต้องการของบริษัทมากที่สุด เพื่อโอกาสของตัวนักศึกษาเอง

 

resume_tips-65c6bfe883d949276c5806b18beac951

Created by InternMatch

 

Elements of Resume

Resume มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1. Heading & Contact Information  ซึ่งเป็นส่วนบนสุด ซึ่งก็คือ ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่พร้อมเบอร์โทรศัพท์ อีเมลล์ติดต่อ

2. Career Objective หรือ Work Objective จะเป็นส่วนที่บอกให้ทราบว่า งานประเภทไหนที่ชื่นชอบ และงานแบบไหนที่นักศึกษากำลังหาอยู่ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้เห็นเป้าหมายระยะสั้นในการทำงาน ถ้าเป็นนักศึกษาที่ต้องการฝึกงาน หรือผู้ที่จบใหม่ อาจจะไม่จำเป็นต้องระบุในส่วนนี้ก็ได้ เพราะจะเป็นการปิดกั้นตัวเองให้พบกับประสบการณ์ในการทำงานที่หลากหลาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผ่านการทำงานมาระยะหนึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะระบุความต้องการของตนเองลงไป

3. Summary of Qualifications หรือ Career Highlights ในส่วนนี้จะเป็นการสรุปคุณสมบัติเด่น ๆ ผลงานที่ยอดเยี่ยม หรือรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ ของผู้สมัคร ส่วนนี้คล้ายกับการเขียนโฆษณาลงหน้าหนึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงดึงดูดและทำให้ทราบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ มีความสามารถอย่างไร

4. Education ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับนักศึกษาที่ยังไม่จบที่ต้องการฝึกงาน หรือ นักศึกษาที่พึ่งจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน ซึ่งจะแสดงถึง มหาวิทยาลัยที่เรียน เอก วุฒิการศึกษา ผลการเรียน หรือถ้าได้เกียรตินิยม เกียรติบัตร หรือรางวัลจากความสามารถเด่นๆ อื่น ๆ ก็สามารถใส่ลงไปในส่วนนี้ได้ โดยการศึกษาที่ใส่ลงไปในส่วนนี้จะไม่ลงลึกถึงระดับมัธยมปลายแต่จะเน้นไปที่ระดับมหาวิทยาลัย

5. Work Experience ส่วนนี้จะบอกถึงประสบการณ์การทำงาน ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่จบการศึกษาและเริ่มต้นทำงานแล้ว ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่สำหรับนักศึกษาทิ่เขียน Resume สำหรับการฝึกงาน สามารถเขียนการฝึกงานพาร์ทไทม์ในช่วงปิดเทอม หรือกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ใช้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในบริษัทได้ โดยส่วนนี้ของนักศึกษาที่ยังไม่จบ หรือพึ่งจบใหม่ ส่วนนี้จะสั้นเป็นปกติอยู่แล้ว

6. ส่วนเสริมอื่น ๆ เช่น Skills ทักษะประเภทต่าง ๆ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศ ความสามารถที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง Awards & Honors ส่วนที่รวบรวมรางวัลต่าง ๆ  จากการเรียน จากการทำงาน การประกวด

 

Resume Formats

รูปแบบและโครงสร้างของ Resume นั้นมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 Chronological Resume เป็นแบบที่เรียงลำดับเหตุการณ์ รายละเอียดต่าง ๆ ตามเวลา ในส่วนของ Education และ Experience เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดจะอยู่ด้านบนและไล่ย้อนลงมาข้างล่าง ข้อดีของ Resume แบบนี้คือ เขียนง่าย สามารถใช้ได้ตั้งแต่นักศึกษาที่จะฝึกงาน จบใหม่ หรือผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานแล้ว รวมทั้งเป็นแบบที่นายจ้างคุ้นเคย และเป็นแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดและเหมาะกับใช้สมัครฝึกงานเป็นอย่างมาก

แบบที่ 2 Functional Resume แบบนี้จะเป็นแบบที่จัดกลุ่มผลงาน ผลความสำเร็จ หรือทักษะความสามารถเอาไว้เป็นหมวดหมู่ ข้อดีของ resume ประเภทนี้ก็คือ ผู้ว่าจ้างจะเห็นทักษะและความสามารถของเราได้อย่างชัดเจนและเราสามารถอำพรางจุดด้อยของเราได้ resume ประเภทนี้เหมาะกับคนที่เปลี่ยนสายงานบ่อย ๆ และงานแต่ละประเภทไม่ค่อยเชื่อมโยงกัน หรือเหมาะกับคนที่หยุดพักจากการทำงานไปนาน ๆ แล้วกลับเข้ามาสมัครงานอีกครั้ง ซึ่ง Functional Resume จะทำให้ไม่เห็นช่องโหว่ด้านเวลาที่หยุดพักไป และไปเน้นที่ทักษะที่มีแทน

แบบที่ 3 Combination Resume เป็นแบบที่นำแบบที่ 1 และแบบที่ 2 มาผสมกันซึ่งเป็นแบบที่ ผู้อาวุโสหรือมีประสบการณ์สูง ๆ นำข้อดีของแต่ละ resume มารวมกัน ทำให้อ่านง่ายตามรูปแบบ Chronological และเพิ่ม skills
เด่น ๆ เป็นหมวดหมู่ตามแบบ Functional เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย และเห็นคุณสมบัติ ความสามารถได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 
Source by The Resume Book คู่มือ เรซซูเม่ (ทวีศักดิ์ โอภาสวรรัตน์)