Getting Started

10005901_10201558488278244_679552464_o

การไปเรียนเมืองนอกในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไร แค่บุ๊คตั๋ว กับพ๊อคเกตมันนี่และหนังสือนำเที่ยว แค่นี้เราก็พร้อมจะก้าวออกนอกประเทศ หรือจะให้ง่ายกว่านั้นก็เพียงซื้อทัวร์ไป แต่ถ้าพูดถึงการไปเมืองนอกในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน (Exchange Student) หรือไปเรียนต่อ หลายคนอาจจะต้องกุมขมับเพราะอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน

 

สำหรับการไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท อาจจะเริ่มต้นด้วยขั้นตอนดังนี้

1. ถามตัวเองให้แน่ใจว่าเราจะไปเรียนต่อต่างประเทศใช่หรือไม่ และถามตัวเองว่าจะไปเรียนต่อในสาขาอะไร

2. หาข้อมูลมหาวิทยาลัย ตลอดจนประเทศและเมืองที่เราจะต้องไปเรียน แน่นอนว่าหลายคนอาจจะเล็งมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน Top Rank ของโลก นั่นก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ก็ควรประเมินกำลังของตัวเองด้วยว่า หากเราสมัครไป จะได้ที่นั่งหรือไม่ นอกจากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบกันคือ ประเทศและเมืองที่จะไปเรียน ว่ามีความปลอดภัยขนาดไหน น่าอยู่และเหมาะกับวิถีชีวิตของเราหรือไม่ และค่าครองชีพในเมืองนั้นเป็นอย่างไร

โดยการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย อาจจะดูได้จากเว็บไซด์ Timeshighereducation ตามลิ๊งค์ http://www.timeshighereducation.co.uk/world-university-rankings/2013-14/world-ranking

3. มองหาแหล่งทุน ปัจจุบันมีทุนการศึกษามากมายทั้งทุนที่มีข้อผูกมัด คือต้องกลับมาทำงานเพื่อใช้ทุน อย่างเช่น ทุนรัฐบาล หรือทุน กพ แต่ก็มีทุนอื่นๆ ที่ไม่ผูกมัด อาจจะเป็นทุนเต็ม หรือทุนให้บางส่วนที่องค์กรต่างๆ หรือมหาวิทยาลัยมอบให้ ซึ่งการติดตามข่าวทุนการศึกษานั้นไม่ยากเลย อาจจะเข้าไปที่ Google หรือไปกดไลค์เพจต่างๆ อย่าง Wegointer หรือ Scholarship.in.th เราก็จะไม่พลาดข่าวทุนการศึกษา แถมเว็บไซด์เหล่านี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการฝึกภาษาอังกฤษ และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอีกด้วย

4. เตรียมสมัครสอบภาษาอังกฤษ การไปเรียนต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อาจรีไควร์ว่าผู้สมัครต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับที่กำหนด เราอาจต้องสอบ TOEFL หรือ IELST รวมถึงสอบ GMAT สำหรับการเรียนต่อด้านบริหาร และสอบ GRE สำหรับการเรียนต่อด้านอื่นๆ ส่วนในประเทศอื่นๆที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ก็อาจมีการรีไควร์การทดสอบความสามารถด้านภาษาเช่นกัน และอย่าลืมว่า คะแนนสอบพวกนี้มีวันหมดอายุ ควรเริ่มสอบแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีเวลาแก้ตัวในกรณีที่ได้คะแนนไม่ดี แต่ก็ไม่ควรสอบทิ้งไว้นานเกิน

5. เข้าสู่กระบวนการสมัคร ความวุ่นวายในการสมัครเรียนต่ออยู่ที่กระบวนการเตรียมเอกสาร ซึ่งเอกสารบางประเภทอาจต้องใช้เวลาในการขอ เพราะฉะนั้นควรเริ่มเตรียมแต่เนิ่นๆ เอกสารหลักๆที่ต้องใช้ในการสมัคร ได้แก่

– ทรานสคริปต์ (transcript) เป็นใบผลการเรียนจากทางมหาวิทยาลัยฉบับทางการ เป็นภาษาอังกฤษ ใส่ซองมหาวิทยาลัยและปิดผนึกตรามหาวิทยาลัยที่หน้าซอง ขอได้จากสำนักทะเบียน เกรดเฉลี่ยสูงอาจจะสร้างความตื่นเต้นให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศ แต่เกรดเฉลี่ยต่ำก็ไม่ได้หมายความว่าจะสิ้นแรงดึงดูด

– จดหมายแนะนำ (letter of recommendations) จดหมายแนะนำจากทางอาจารย์หรือหัวหน้างาน

– เอกสารรับรองทางการเงิน (financial statement) เอกสารรับรองจากทางธนาคารว่าเรามีเงินเพียงพอที่จะเรียนต่อได้ แนะนำว่าอย่างน้อยควรจะมีเงินมากกว่าค่าหลักสูตรและค่ากินอยู่ตลอดหลักสูตร และฝากมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน (อย่ากังวลหากไม่ตรงเงื่อนไข หลักการพิจารณาขึ้นกับเอกสารประกอบอย่างอื่นด้วย)

– statement of purpose เป็นจดหมาย 1 หน้า เป็นจดหมายที่เราเขียนให้แก่ทางมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงเลือกมาเรียนที่นี่ (เขียนในทำนองว่าทำไมมหาวิทยาลัยควรจะรับเราเข้าศึกษา)

– อื่นๆ CV อาจจะเป็นประกาศนียบัตรต่างๆ ที่เราได้มาและเกี่ยวข้องกับที่เราจะสมัคร

เมื่อเอกสารพร้อม ก็สามารถยื่นเอกสารพร้อมใบสมัครไปยังมหาวิทยาลัยที่เราต้องการ

6. หลังจากได้รับการตอบรับแล้ว อาจเข้าสู่กระบวนการลงทะเบียน เตรียมเอกสารเพื่อขอวีซ่า และเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมกับการเดินทางไปเรียนต่อ

 

การไปแลกเปลี่ยน

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยคู่สัญญาอยู่ในหลากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในแต่ละปีจะมีทุนให้นักศึกษาที่ต้องการไปแลกเปลี่ยน มีจำนวนที่นั่งหรือโควต้าที่แตกต่างกันออกไปสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกโครงการ ตั้งแต่ปี 2 ขึ้นไป และปริญญาโท

นักศึกษาที่ต้องการไปแลกเปลี่ยน อาจจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยขั้นตอน ดังนี้

1. หาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญา โดยอาจจะเข้าไปดูในเว็บไซด์ของศูนย์วิเทศน์สัมพันธ์ เว็บไซด์ CDC และเว็บไซด์ของมหาวิทยาลัยคู่สัญญานั้นโดยตรง รวมถึงศึกษาข้อมูลของประเทศนั้นๆ หรือเข้ารับฟังการข้อมูลเกี่ยวกับการไปแลกเปลี่ยน ซึ่งจะจัดโดยศูนย์วิเทศน์สัมพันธ์ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ทั้งฝั่งรังสิต และท่าพระจันทร์

2. เตรียมทำเกรดให้อยู่ในเกณฑ์ดี และความพร้อมทางด้านภาษา เนื่องจากเกณฑ์ในการพิจารณานักศึกษาที่มีสิทธิ์รับทุนเพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนั้น คือเกรดและผลการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ สำหรับระดับปริญญาตรี ควรมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.75 ปริญญาโท ไม่ต่ำกว่า 3.00 และระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษ อาจจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปตามแต่มหาวิทยาลัย โดยทั่วไปคะแนนยิ่งสูง ยิ่งดี และยิ่งมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงหรือดังมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องทำคะแนนให้ได้สูงขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันสูงนั่นเอง (คะแนน IELTS ที่ใช้ยื่นสมัครมหาวิทยาลัย ไม่ควรต่ำกว่า 6.5 หรือ TOEFL paper 550 คะแนน หรือ TOEFL CBT 213 คะเนนขึ้นไป ตามตารางเทียบแต่คะแนนสอบ TOEIC อาจจะไม่เพียงพอในการสมัครมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ)

3. เมื่อเลือกมหาวิทยาลัยคู่สัญญา พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้วก็เข้าสู่กระบวนการสมัคร โดยในระดับคณะ สามารถเข้าไปกรอกใบสมัครออนไลน์ได้จากเว็บไซด์ http://app.bus.tu.ac.th/inter/ หรือติดต่อโดยตรงได้ที่ศูนย์วิเทศน์สัมพันธ์ โดยในระดับปริญญาตรี ต้องสมัครภายในเดือนกุมภาพันธ์ และระดับปริญญาโท ต้องสมัครภายในเดือนมีนาคม

4. หลังจากสมัครเข้าร่วมโครงการไปแล้ว นักศึกษาจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกโดยจะพิจารณาจากคุณสมบัติ ระดับคะแนน รวมถึงการสัมภาษณ์ ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อต่อไป

5. ในระหว่างที่ไปแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาที่สอดคล้องกับวิชาที่ตนต้องเรียนในประเทศไทย และสามารถนำเกรดที่ได้มาขอเทียบโอนได้ โดยการอนุมัติการเทียบโอนเป็นดุลยพินิจของอาจารย์ประจำวิชา และคณะกรรมการบริหารของคณะฯ