“นอกจากนักศึกษาจะได้ความรู้ที่เข้มข้นจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในเยอรมนีแล้ว นักศึกษายังมีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งจากการท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆในเยอรมนี ซึ่งมีภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลสาบ มีบ้านเมืองที่สวยงาม สงบ แต่ก็ไม่ขาดสีสัน เนื่องจากยังมีเมืองใหญ่ มีแบรนด์สินค้าดังให้ช๊อปปิ้งได้ และนักศึกษาที่ถือวีซ่านักเรียนยังสามารถเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มเชงเก้นได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าอีก และสิ่งสำคัญที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้คือวัฒนธรรม ความมีวินัยในการทำงานและใช้ชีวิต ความตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวนักศึกษาเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย ควบคู่กับประสบการณ์และความทรงจำที่ดี”
อาจารย์ปาริฉัตร จันโทริ
มหาวิทยาลัยที่เป็นคู่สัญญากับคณะฯ
• European Business School
• WHU (Otto Beisheim School of Management)
ทำไมต้องเรียนที่เยอรมนี
• เยอรมนีมีระบบการศึกษาที่เป็นมาตรฐานระดับโลก
• มีความแข่งแกร่งด้านวิชาการ ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์
• ค่าครองชีพไม่สูงมาก
• หลายมหาวิทยาลัยไม่เก็บค่าเล่าเรียน
• ประเทศมีความปลอดภัย
• ทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของยุโรป สามารถเดินทางได้สะดวก
• บริษัทจากประเทศเยอรมนีมีแนวโน้มลงทุนในไทยมากขึ้น
การใช้ชีวิตในเยอรมนี
ชีวิตในเยอรมนีเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่ก็สะดวกสบาย และปลอดภัย เมืองในเยอรมนีมีตั้งแต่เมืองขนาดใหญ่ อย่างเช่น Berlin, Munich, Stuttgart, Düsseldorf, Humburg, Colonge (Köln), Frankfurt, Heidelberg มีเมืองขนาดเล็กหรือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ เช่น Münster, Göttingen, Mainz, Augsburg ซึ่งเมื่อเทียบกับเมืองไทยแล้ว เมืองเหล่านี้อาจจะไม่มีห้างใหญ่ๆให้ช๊อปปิ้ง แต่ก็มีสินค้าจัดจำหน่ายอย่างพอเพียง รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยว และมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกรวดเร็ว
– ที่พักในเยอรมนี เมืองที่มีมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักจะมีหอพักนักเรียน ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนอาจจะสมัครเข้าอยู่ในหอพักนักเรียนได้ หรือนักศึกษาอาจจะติดต่อหาที่พักเองด้วยการดูประกาศจากหนังสือพิมพ์ บอร์ดในมหาวิทยาลัย นายหน้าและเว็บไซด์ต่างๆ ซึ่งอาจจะเช่าเป็นอพาร์ตเมนต์ หรือสามารถร่วมแชร์บ้านกับเพื่อนๆได้ หรือที่เรียกว่า WG (Wohngemeinschaft) หอพักหรือห้องพักส่วนใหญ่ มักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเบื้องต้น ฮีตเตอร์ มีห้องน้ำหรือครัวในตัว
ค่าเช่าบ้านและหอพัก จะแต่งต่างกันออกไปตามค่าครองชีพของแต่ละเมือง โดยทั่วไปเมืองใหญ่มักกจะมีค่าเช่าบ้านสูงกว่าเมืองเล็ก ค่าที่พักมีราคาอยู่ที่ 170 – 500 ยูโร ตามแต่ขนาด ทำเล และสิ่งอำนวยความสะดวก
– การเดินทางในเมืองและระหว่างเมือง การเดินทางในแต่ละเมืองอาจจะแตกต่างกันออกไปตามระบบขนส่งมวลชนที่เมืองนั้นๆมี โดยเมืองใหญ่ๆ อาจจะมีทั้งรถราง (Tram) รถไฟใต้ดิน (U-Bahn) มีรถเมล์ (Bus) รถไฟที่วิ่งระหว่างเมือง (S-Bahn) โดยนักศึกษาอาจซื้อตั๋วนักเรียน (Semester ticket) ในกรณีที่เมืองหรือรัฐนั้นๆมีตั๋วประเภทนี้ ตั๋วเดือนหรือตั๋วรายวันเพื่อสัญจรในเมือง นอกจากนั้น นักศึกษาสามารถเลือกใช้จักรยาน ซึ่งสามารถขับขี่ได้ง่ายเนื่องจากมีเลนส์สำหรับจักรยานโดยเฉพาะ
การเดินทางระหว่างเมืองสามารถทำได้สะดวกด้วยรถไฟ (Zug) ซึ่งมีให้เลือกหลายเกรด ICE รถไฟความเร็วสูง IC รถไฟเร็ว RE, RB รถไฟหวานเย็น หรือเครื่องบิน
– อาหารการกิน เยอรมนีมีค่าครองชีพไม่สูงมาก ผัก ผลไม้บางชนิด รวมถึงเบียร์และช๊อกโกแลตมีราคาถูกกว่าเมืองไทย ซึ่งหากทำอาหารทานเองจะมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก เมืองส่วนใหญ่มีร้านเอเชียที่นักศึกษาสามารถไปเลือกซื้อวัตถุดิบไทย เพื่อนำมาประกอบอาหารได้ นอกจากนั้น เยอรมันยังมีร้านอาหารหลายระดับที่นักศึกษาสามารถเลือกใช้บริการได้ ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีโรงอาหารไว้ให้บริการแก่นักศึกษา ซึ่งราคาอาหารจะค่อนข้างถูก เนื่องจากได้รับการ subsidize จากภาครัฐ
– คนเยอรมัน ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่มีระเบียบวินัยสูง มีความขยันขันแข็ง work hard – play hard แต่ก็มีอัธยาศัยมนุษยสัมพันธ์ดี พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ คนเยอรมันให้เคารพในสิทธิของผู้อื่น ตรงไปตรงมา และจริงใจ การผูกมิตรกับคนเยอรมันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป อาจจะเริ่มด้วยการพูดคุยเรื่องฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่ชาวเยอรมันชื่นชอบ หรือหาหัวข้อสนทนาซึ่งทั้งสองฝ่ายสนใจ แต่ควรหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องสงคราม
– เวลาว่างจากการเรียน กิจกรรมที่นักศึกษาสามารถเลือกทำในเวลาว่างมีหลากหลาย เช่น การเล่นกีฬา ปั่นจักรยานท่องเที่ยงการไปเดินป่า ทัวร์ธรรมชาติ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไปเที่ยวต่างเมือง หรือการเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นๆในยุโรปก็ทำได้สะดวก โดยอาจะเลือกเดินทางได้ทั้งทางเครื่องบินโลว์คอส อย่าง Easyjet, Germanwings, Ryan Air ฯลฯ รถไฟ (www.db.de) ซึ่งหากจองตั๋วเนิ่นๆ หรือช่วงที่มีโปรโมชั่นจะสามารถซื้อตั๋วในราคาถูกได้ รวมถึงการนั่งรถบัสไปยังเมืองและประเทศต่างๆ
– การทำงานระหว่างเรียน ประเทศเยอรมนีมีกฎหมายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับการทำงาน ในกรณีที่นักศึกษาถือวีซ่านักเรียนจะทำได้ไม่เกิน 90 วันเต็มเวลา หรือ 180 วัน ในกรณีทำงานพาร์ทไทม์ การทำงานในร้านอาหารอาจจะต้องมีใบอนุญาติ ซึ่งจะได้รับเมื่อผ่านการอบรมเท่านั้น การลักลอบทำงานเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่นักศึกษาสามารถรับจ้างทำงานในห้องสมุด ในมหาวิทยาลัย หรือช่วยงานโปสเฟสเซอร์ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.bangkok.diplo.de/Vertretung/bangkok/th/06/Studieren__in__Deutschland/0-Studieren-in-Deutschland.html
http://www.daad.or.th/en/