France

About This Project

HDtimelapse.net_City_2505_hirez

ประเทศฝรั่งเศส หรือชื่อเต็มว่าสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งภาษา อาหาร วัฒนธรรม รวมถึงภูมิประเทศที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับต้นๆของยุโรป มีบริษัทชั้นนำมากมาย เช่น Louis Vuitton, Yves Saint-Laurent, Chanel, Dior, L’Oréal, Danonne, Michelin, Airbus, Renult ฯลฯ ฝรั่งเศสจึง เป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักเรียนไทยไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว


ทำไมต้องเรียนต่อฝรั่งเศส

– ฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้นำทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ การแสดง แฟชั่น เทคโนโลยี การค้าขายและเศรษฐกิจ

– ฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมที่ยาวนานหลายพันปีทำให้ฝรั่งเศสเต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ โบสถ์และพระราชวังที่เก่าแก่สวยงาม

– มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคุณภาพ

– ฝรั่งเศสมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ติด 1 ใน 3 ของโลก มีสถาบันระดับอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงกว่าหลายร้อยแห่ง และปริญญาบัตรที่ออกโดยสถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

– ภาษาฝรั่งเศส ประชากรกว่า 200 ล้านคน มากกว่า 47 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลกใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ

– มีหลักสูตรที่หลากหลาย ทั้งที่เปิดสอนเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ
มหาวิทยาลัยคู่สัญญากับคณะฯ

– EDHEC Graduate School of Management

– ESCP – Europe

– ISC Paris School of Management

– ROUEN Business School

– Université Paris-Dauphine


การสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศส
ขั้นตอนคร่าวๆในกาสมัครเข้าศึกษาต่อในประเทศสามารถสรุปได้ ดังนี้

– วิธีการติดต่อสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในหลักสูตรที่เราสนใจทำได้อย่างไร?
ปกติแล้วแต่ละสถาบันการศึกษาจะมีเว็บไซต์ของตัวเอง รายชื่อสถาบันและเว็บไซต์ได้ถูกรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน CampusFrance เว็บไซต์ถือเป็นจุดแรกของการติดต่อ

ถ้าต้องการสมัครเข้าเรียนเป็นปีแรกหรือปีที่ 2 ในระดับมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี หรือในปีแรกของการศึกษาทางวิชาชีพด้านสุขภาพอนามัย (เภสัช ทันตกรรม ผดุงครรภ์) หรือชั้นปีแรกของโรงเรียนด้านสถาปัตยกรรม คุณต้องยื่นใบสมัครเบื้องต้นที่เรียกว่า DAP, demande d’admission préalable) ที่ฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย สำหรับการเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ของหลักสูตร postsecondary อื่นๆ ต้องสมัครผ่าน “Admission post bac” ซึ่งเป็นระบบออนไลน์

– ควรสมัครขั้นต่ำกี่สถาบัน?

เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการตอบรับเข้าเรียน ควรสมัครขั้นต่ำ 3 สถาบันเป็นต้นไป เนื่องจากบางสถาบันมีจำนวนผู้สมัครมากเกินกว่าที่สถาบันการศึกษาจะรองรับได้ อย่างไรก็ตามระบบการศึกษารวมถึงสถาบันและหลักสูตรของฝรั่งเศสมีความหลากหลายสามารถตอบสนองความสนใจของผู้เรียนได้

– จะได้รับการตอบรับจากทางมหาวิทยาลัยตอนไหน?

สถาบันจะแจ้งผลการตอบรับให้นักเรียน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายนและ 15 กันยายนของแต่ละปีสำหรับหลักสูตรที่เปิดภาคเรียนในเดือนตุลาคม ดังนั้นในบางกรณีคุณอาจมีเวลาเตรียมตัวที่จะเดินทางเพียงไม่ถึง 1 เดือน

– ขั้นตอนสุดท้าย: ลงทะเบียนเรียน

เมื่อเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนเข้าเรียนคือการลงทะเบียนเรียนด้วยตนเองที่สถาบันการศึกษา คุณต้องเลือกหลักสูตรและชำระเงินค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นๆ เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อย จะได้รับบัตรประจำตัวนักศึกษา ซึ่งรับรองสถานะนักศึกษาตามกฏหมาย


การใช้ชีวิตในฝรั่งเศส

ที่พักในฝรั่งเศส นักศึกษาสามารถเลือกอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย หรือเช่าห้องพัก โดยสามารถหาห้องพักได้จากเว็ปไซต์ดังต่อไปนี้ www.pap.com/ www.seloger.com/ www.explorimmo.com หรือหนังสือ Particulier à particulier (PAP) ซึ่งจะออกขายสัปดาห์ละครั้งทุกวันพฤหัสบดี ข้อดีของการติดต่อกับทาง PAP คือ สามารถติดต่อเจ้าของบ้านได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกับเอเจนซี่ ทั้งนี้ ราคาที่พักอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เมืองใหญ่มักจะมีค่าครองชีพสูงกว่า
ข้อพึงระวัง และข้อควรทำในการเช่าบ้านในฝรั่งเศส

*** ควรเลือกบ้านพักที่เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายเงินค่าเช่า ประกอบกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีความจำเป็นที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษา และการพักอาศัย

*** หากเป็นไปได้ก่อนทำการเช่า ควรมั่นใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของบ้านพัก เช่น ไม่ควรเลือกพักอยู่ชั้นล่าง ความมืดทึบของบ้าน เสียงดังจากรถยนต์(หันหน้าทางถนน) ความปลอดภัย ความป็นมิตรของเพื่อนบ้าน ผู้ดูแลบ้าน(Guardian) และที่สำคัญคือการเดินทางควรสะดวก ฯลฯ

*** หนังสือ Etat des lieux จะถูกร่างเป็น 2 ชุดให้ผู้เช่าและผู้ให้เช่าลงนามรับทราบร่วมกัน เกี่ยวกับสภาพห้องพัก ทรัพย์สินในบ้านพัก โดยผู้เช่าอาจจะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานในกรณีที่บ้านมีสภาพ ไม่สมบูรณ์ เช่น ผนังมีการเจาะรู มีรอยร้าว มีน้ำรั่ว ฯลฯ ทั้งนี้ กรณีบ้านพักที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ ก่อนการทำสัญญาเช่าจะต้องทำการตกลงกับผู้ให้เช่า หรือบริษัทนายหน้าเกี่ยวกับการซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมอยู่ และจะต้องมีการนัดตรวจสภาพอีกครั้งจนกระทั่งพอใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

*** เมื่อเลิกเช่า จะต้องทำการตรวจสภาพของห้องพักอีกครั้ง หากผู้เช่าทำสิ่งของเสียหาย เจ้าของบ้านพักจะหักเงินจำนวนหนึ่งจากค่าประกัน 1 เดือนที่ให้ไว้

*** ผู้เช่าจะต้องทำประกันภัยให้กับห้องพักของตนเอง สามารถทำได้กับบริษัทเอกชนหรือกับธนาคาร โดยผู้เช่ารับผิดชอบจ่ายเอง

*** ศึกษาให้ดีเกี่ยวกับเงื่อนไขสัญญาเช่าว่าผู้เช่าต้องเสียค่าเช่าเท่าใด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ท อยู่ในความรับผิดชอบใคร(ปกติผู้เช่าต้องจ่ายเอง)

*** ตกลงกับผู้ให้เช่า หรือ บริษัทนายหน้าให้ดีเกี่ยวกับการเปิดมิเตอร์ค่าไฟ-น้ำ โทรศัพท์ ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเท่าใด

*** ศึกษาเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่อาจจะทำให้ผู้เช่าเสียเปรียบ เช่น การเก็บค่าประกันบ้าน ระยะเวลาเช่า การขึ้นค่าเช่า การยกเลิกสัญญาเช่า ฯลฯ

อาหารการกิน ชาวฝรั่งเศสรับประทานอาหารวันละ 3 เวลา มื้อเช้าตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00 น. – 9.00 น. โดยมีเครื่องดื่มร้อน (กาแฟ ชา หรือช็อคโกแลต) และครัวซองต์ หรือขนมปังกับเนย แยมผลไม้ อาหารกลางวันเริ่มตั้งแต่เที่ยงถึง 14.00 น. ถือเป็นอาหารมือสำคัญ โดยปกติจะเริ่มด้วยสลัดหรืออาหารเรียกน้ำย่อย จากนั้นเป็นอาหารจานหลักและของหวาน ตบท้ายด้วยกาแฟเอ็กซ์เพรสโซเข้มข้นหอมกรุ่น และอาหารมื้อค่ำเริ่มรับประทานกันประมาณเวลา 20.00 น. ชาวฝรั่งเศสนิยมดื่มไวน์ควบคู่ไปกับมื้ออาหาร
ค่าครองชีพในประเทศฝรั่งเศสไม่ได้แพงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆในยุโรป โดยเฉลี่ยค่าครองชีพจะตกประมาณ 800 ยูโรต่อเดือนยกเว้นในปารีสซึ่งมากกว่าคือ 1,000 ยูโรต่อเดือน แน่นอนว่าเพียงพอกับนักศึกษาที่มีงบประมาณจำกัดด้วยเช่นกัน จำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงแต่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในแต่ละวันของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมสันทนาการหรือการพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาจะได้รับส่วนลดต่าง ๆมากมาย

การเดินทางภายในเมืองและระหว่างเมือง นักศึกษาสามารถเลือกใช้บริการขนส่งมวลชน รถไฟใต้ดิน รถราง หรือรถเมล์เพื่อเดินทางภายในเมือง หรือเลือกที่ใช้จักรยานหรือเดิน การเดินทางระหว่างเมืองหรือระหว่างประเทศสามารถทำได้อย่างสะดวกโดยรถไฟ ซึ่งมีทั้งรถไฟธรรมดา ไปจนถึงรถไฟความเร็วสูงหรือ Thalys นอกจากนั้นยังมีสายการบินต่างๆ และโลว์คอสแอร์ไลน์ เช่น Ryan Air, Easyjet

การทำงานระหว่างเรียน

1. รัฐบาลฝรั่งเศสอาจอนุญาตให้นักเรียนต่างต่างที่ถือวีซ่าแบบนักเรียนทำงานในระหว่างศึกษาได้แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้กรณีที่ถือวีซ่านักเรียนถ้าประสงค์ทำงานทั่วไป ที่ไม่ใช่ในองค์กรหรือบริษัทต่างๆ หรือ ต้องการทำงานแบบ Part-time ไม่ต้องทำการขออนุญาตทางการฝรั่งเศส

2. กรณีทำงานเนื่องจากเป็นข้อบังคับของหลักสูตรในการฝึกงานเพิ่มเติม หรือ Internship เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว (อย่างน้อยระดับMaster2) สามารถขออนุมัติเพื่อทำงานเป็นแบบวีซ่าชั่วคราวได้ไม่เกิน 6 เดือน

3. หรืออาจจะขอสมัครวีซ่าประเภท « Skills and talents residencey permit » หากมีโครงการหรือการทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศของตนเองและประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะได้อนุมัติให้อยู่ทำงานได้ประมาณ 3 ปี และอาจจะขอต่ออายุได้ตามความจำเป็น

4. กรณีต้องการทำงานแบบ Full-time ในฝรั่งเศส จะต้องยื่นเรื่องขอสมัครวีซ่าโดยจะต้องมีหน่วยงาน/องค์กร/บริษัท ตอบรับเข้าทำงานพร้อมสัญญาจ้าง ซึ่งจะต้องขอดำเนินการแต่เนิ่นๆ

5. นักศึกษาต่างชาติที่ต้องการทำงานในฝรั่งเศสในระหว่างศึกษา สามารถทำงานได้หากได้รับบัตรพำนักที่ระบุว่ามีสถานภาพนักศึกษา (carte de séjour temporaire portant la mention « étudiant ») โดยไม่ต้องขออนุญาตจากองค์กรใดๆอีก ในกรณีปีแรกที่มาพำนักอยู่ในฝรั่งเศสและได้วีซ่า long séjour « étudiant » ซึ่งมีค่าเทียบเท่าบัตรพำนัก จะมีสิทธิ์ทำงานได้ตามอายุบัตรพำนัก คือ 1 ปี สูงสุด ทั้งนี้ มีการจำกัดชั่วโมงการทำงานไว้ที่ 964 ชั่วโมง/ ปี ในกรณีทำงานเกินกว่าเพดานชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการพำนักในประเทศฝรั่งเศส

6. ในส่วนของนายจ้าง เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องแจ้ง Préfecture ที่ออกบัตรพำนักให้แก่นักศึกษาลูกจ้าง



ข้อมูลเพิ่มเติม
http://oeaparis.free.fr/rubrique.php3?id_rubrique=29&id_section=5
http://www.educatepark.com/france/general-information.php
http://www.thailande.campusfrance.org/th
http://www.bic.moe.go.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=178&Itemid=134

Category
STUDY ABROAD