Road to Become an Accountant

เมื่อถามถึงผู้ที่เรียนทางด้านบัญชี ว่าอยากจะทำงานเกี่ยวกับอะไรเมื่อศึกษาจบไปแล้ว เกือบทั้งหมดจะตอบว่า อยากจะทำงานทางด้านตรวจสอบบัญชี หรือ อยากเป็น “ผู้สอบบัญชี” หรือเรียกให้ถูกก็คือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแต่เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรที่จะได้เป็นผู้สอบบัญชี ก็มักจะไม่ทราบข้อมูล หรือแนวทางการที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้อย่างชัดเจน จริง ๆ แล้ว การที่ผู้ที่ศึกษาทางด้านบัญชีไม่ทราบแนวทางการที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้อย่างชัดเจน ก็เป็นเพราะสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สภาวิชาชีพบัญชี) ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ และแนวทางการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

อย่างไรก็ตามขั้นตอนหลัก ๆ ที่จะทำให้เราเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้นั้น มีเรื่องที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สามเรื่อง คือ 1) การฝึกหัดงาน 2) การทดสอบวิชาชีพสอบบัญชี และ 3) การขอรับใบอนุญาต (ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. 2556) ซึ่งจะมีวิธีการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

 

1)   การฝึกหัดงาน

ผู้ที่ต้องการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ต้องผ่านการฝึกหัดงานกับผู้ให้การฝึกหัดงานในประเทศหรือในต่างประเทศที่สภาวิชาชีพได้รับรองว่าการตรวจสอบบัญชีได้ใช้มาตรฐานการสอบบัญชีของไทยหรือมาตรฐานการสอบบัญชีของต่างประเทศที่สภาวิชาชีพบัญชีให้การรับรอง หรือในประเทศที่ยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยประกอบอาชีพสอบบัญชีในประเทศนั้นได้ ซึ่งโดยปกติก็สามารถฝึกงานกับสำนักงานสอบบัญชีทั่วไปในประเทศไทยได้นั่นเอง นอกจากในการฝึกงานต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

– ผู้ฝึกหัดงานต้องเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชี โดยต้องไปทำการสมัครได้ที่สภาวิชาชีพบัญชี

– ผู้ฝึกหัดงานจะสามารถยื่นคำขอแจ้งการฝึกหัดงานได้ต้องสอบผ่านวิชาการบัญชีตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดไม่น้อยกว่าสี่รายวิชา และวิชาการสอบบัญชีไม่น้อยกว่าหนึ่งรายวิชา และรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าหน่วยกิต

– การฝึกหัดงานต้องไม่น้อยกว่าสามปี และมีเวลาฝึกหัดงานไม่น้อยกว่าสามพันชั่วโมง (ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน) แต่ต้องฝึกงานให้เป็นไปตามที่กำหนดภายในห้าปี นับจากวันที่ยื่นขอแจ้งการฝึกหัดงาน

– ยื่นรายงานฝึกหัดงานภายในสองเดือนนับจากวันสิ้นเดือนที่ครบกำหนดในแต่ละปี มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่มีการฝึกหัดงานในปีนั้น

– กรณีเปลี่ยนแปลงผู้ให้การฝึกหัดงานหรือผู้ให้การฝึกหัดงานถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องแจ้งเปลี่ยนผู้ให้การฝึกหัดงานพร้อมรายงาน และคำรับรองของผู้ฝึกหัดงานรายเดิมทุกครั้งภายในเวลาสองเดือนนับแต่วันสิ้นเดือนที่เปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นให้ถือว่าคำขอฝึกหัดงานสิ้นสุดลง (กรณีเปลี่ยนแปลงผู้ให้การฝึกหัดงานในสำนักงานเดียวกันไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลง)

 

2)   การทดสอบวิชาชีพสอบบัญชี

ผู้ที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต นอกจากจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการปฏิบัติงานทางด้านการสอบบัญชีแล้ว (จากการฝึกหัดงาน) ก็ต้องมีความรู้ความสามารถในเชิงทฤษฎี นั่นก็คือ การต้องผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถ โดยต้องผ่านการทดสอบอีกหกรายวิชา ซึ่งประกอบด้วย การบัญชี 1 การบัญชี 2 การสอบบัญชี 1 การสอบบัญชี 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 1 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 2 (สามารถดูรายละเอียดจากทาง website ของทางสภาวิชาชีพบัญชี)

อย่างไรก็ตามการที่จะเข้าทดสอบได้นั้น ก็มีเงื่อนไขเพื่อเติม คือ การเข้าทดสอบวิชาการสอบบัญชี 1 และวิชาการสอบบัญชี 2 จะต้องมีเวลาฝึกหัดงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และมีเวลาฝึกหัดงานรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งพันชั่วโมง นอกจากนี้การที่จะสอบผ่านได้ จะต้องได้คะแนนในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ และแต่ละวิชาสามารถสะสมผลการทดสอบของแต่ละวิชาที่สอบผ่านได้ไม่เกินสี่ปีนับจากวันที่ผ่านการทดสอบแต่ละวิชา

 

3)   การขอรับใบอนุญาต

เมื่อฝึกงานครบตามเงื่อนไข และสามารถผ่านการทดสอบทั้งหกวิชาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของการที่จะได้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ก็คือการขอรับใบอนุญาตนั่นเอง โดยให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมชำระค่าธรรมเนียม ภายในเวลา 6 เดือนนับจากวันสิ้นเดือนที่ผ่านการฝึกหัดงานและการทดสอบครบถ้วน

เมื่อผู้ที่ต้องการจะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตปฏิบัติได้ตามสามเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได่แล้ว อย่างได้ก็ตาม ผู้สอบบัญชีต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรอบปีต่อ ๆไป และนอกจากนี้ผู้สอบบัญชีจะต้องมีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องตามเกณฑ์ของสภาวิชาชีพบัญชี เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง